ภาวะสายตาปกติและความผิดปกติของสายตา

 

eye 01

 

ภาวะสายตาปกติ

สำหรับผู้ที่มีสายตาปกติ จะสามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน หรืออาจเรียกว่ามีค่าสายตาเท่ากับ 20/20 ซึ่งความสามารถในการมองเห็นภาพได้ชัดเจนไม่ว่าในระยะใกล้หรือไกลนี้เรียกว่า “ภาวะสายตาปกติ” โดยกระบวนการในการมองเห็นภาพนั้นจะต้องเกิดในที่ที่มีแสง เริ่มจากลำแสงที่สะท้อนจากวัตถุแล้วเดินทางเข้ามาสู่ดวงตา ลำแสงจะผ่านส่วนกระจกตาที่มีความใสก่อน จากนั้นจึงเดินทางผ่านรูม่านตาขั้นต่อไปแสงก็จะผ่านเลนส์ในตา ซึ่งการหดตัวของเลนส์จะช่วยให้เกิดการโฟกัสของแสงบนจอประสาทตา จึงทำให้เกิดการมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน

ภาวะสายตาผิดปกติ

ภาวะสายตาสั้น

ภาวะสายตาสั้นหมายถึง การที่สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจน แต่มองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลไม่ชัดซึ่งเกิดจากลูกตามีขนาดใหญ่หรือมีลูกตาที่ลึกหรือยาวกว่าตาปกติ ดังนั้นแสงที่ผ่านเข้าสู่ตาจึงโฟกัสก่อนถึงจอประสาทตาแทนที่จะโฟกัสบนจอประสาทตา

แต่ภาวะสายตาสั้นนั้นก็สามารถแก้ไขได้ โดยการฉายแสงเอ็กไซเมอร์เลเซอร์บริเวณส่วนกลางของกระจกตาเพื่อแก้ไขความโค้งของกระจกตาและทำให้แสงที่เข้าสู่ตาสามารถโฟกัสเป็นจุดเดียวบนจอประสาทตา ซึ่งเป็นการแก้ภาวะสายตาสั้นและทำให้การมองเห็นภาพชัดเจนได้

 

myopia 01 new

 

ภาวะสายตายาว (Hyperopia)

ภาวะสายตายาวหมายถึง การที่สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลได้อย่างชัดเจน แต่มองเห็นที่อยู่ใกล้ไม่ชัด

ภาวะสายตายาวเกิดขึ้นเมื่อลูกตามีขนาดเล็กและมีความลึกของลูกตาน้อยกว่าปกติเมื่อลำแสงเดินทางเข้าสู่ลูกตาของผู้มีภาวะสายตายาว แสงจะโฟกัสหลังจอประสาทตามากกว่าที่จะโฟกัสบนจอประสาทตา ซึ่งภาวะสายตายาวในคนส่วนมากจะสามารถแก้ไขได้ โดยการใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ฉายบริเวณส่วนกลางของกระจกตา จะทำให้แสงสามารถโฟกัสได้บนจอประสาทตา ซึ่งเป็นการแก้ภาวะสายตายาวและทำให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น

 

hyperopia 01 new

 

ภาวะสายตาเอียง (Astigmatism)

สำหรับผู้ที่มีสายตาปกติ รูปร่างของกระจกตาจะเป็นทรงกลมเหมือนผิวของลูกบอล ซึ่งจะทำให้แสงเดินทางผ่านเลนส์ได้โดยไม่มีการบิดเบี้ยวจากนั้นแสงจะเกิดการโฟกัสบนจอประสาทตา เพื่อทำให้เกิดการมองเห็นภาพที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่มีภาวะสายตาเอียง รูปร่างของกระจกตาจะโค้งไปตามแนวยาว คล้ายรูปไข่ ซึ่งเป็นผลให้แสงมีการหักเหที่ผิดรูปร่างไป จากนั้นเมื่อแสงเดินทางผ่านเลนส์ จึงทำให้ภาพที่มองเห็นไม่ชัดเจนหรือไม่โฟกัส ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นในระยะใดๆ  เนื่องจากลำแสงไม่เกิดการโฟกัสภาพเป็นจุดเดียวบนจอประสาทตา เพื่อให้เกิดภาพชัดเจนการใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ แก้ไขภาวะสายตาเอียง จะช่วยให้แสงมาถึงบนจอประสาทตาได้ ซึ่งทำให้การมองเห็นภาพชัดเจนได้

 

astigmatism 01 new

 

สายตายาวผู้สูงอายุ (Presbyopia)

เลนส์ในตาคนทำหน้าที่คล้ายเลนส์ในกล้องถ่ายรูป สำหรับผู้ที่มีภาวะสายตาปกติ เลนส์ในตาจะปรับเปลี่ยนรูปร่างเพื่อทำให้เกิดการโฟกัสภาพไม่ว่าจะมองภาพในระยะใกล้หรือไกลก็ตามแต่อย่างไรก็ตามเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น เลนส์จะสูญเสียความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนรูปร่าง เป็นผลให้การมองภาพในระยะใกล้ไม่ชัดเจน ภาวะสายตาเช่นนี้จึงเรียกว่า สายตายาวผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดตามธรรมชาติเมื่อมีอายุมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยที่ทำเลสิคควรจะทราบว่าผลของการทำเลสิคจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่การมองไม่ชัดเมื่ออายุมากขึ้นหลังการทำเลสิคนั้นเนื่องมาจากการที่เลนส์ไม่สามารถปรับให้มองเห็นภาพในระยะใกล้ได้ชัดเหมือนเดิม

 

presbyopia 01 


ผู้ที่เหมาะสมเข้ารับการรักษาด้วย LASIK

  • ควรมีอายุ 20 ปีขึ้นไป
  • มีค่าสายตาคงที่หรือเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 50 (0.5 D) อย่างน้อย 1 ปี
  • ไม่มีโรคของกระจกตาเช่นภาวะตาแห้งอย่างรุนแรงโรคอักเสบเรื้อรังในลูกตาโรคเบาหวานกลุ่มโรครูมาตอยด์ SLE
  • มีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์


การเตรียมตัวเพื่อตรวจประเมินสายตา

เป็นขั้นตอนการตรวจประเมินว่ามีความเหมาะสมในการรักษาด้วยเลสิกหรือไม่โดย

  • ใช้เวลาตรวจประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  • ผู้ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มควรถอดอย่างน้อย 7 วัน
  • ผู้ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งควรถอดอย่างน้อย 1 เดือน
  • วันที่มาตรวจประเมินสายตาควรพาญาติมาด้วยเนื่องจากมีการหยอดยาขยายม่านตาจะทำให้ตาพร่ามัวสู้แสงจ้าไม่ได้ราว 4-6 ชั่วโมงและควรนำแว่นกันแดดมาด้วย

การวิเคราะห์สายตาก่อนการรักษา

เมื่อคุณตัดสินใจทำการรักษาจะต้องผ่านการตรวจโดยจักษุแพทย์ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • ตรวจวัดการมองเห็น
  • ตรวจวัดความดันลูกตา
  • ตรวจสภาพจอประสาทตา
  • ตรวจวัดความโค้งของกระจกตาส่วนหน้าและส่วนหลัง (Schwind Sirius)
  • ตรวจวัดความหนาของกระจกตา (Pachymetry)
  • ตรวจวัดสภาพสายตา (Wavefront Analyzer)
  • ตรวจวัดปริมาณน้ำตา (Schirmers Test)